เคยสงสัยไหมว่า การอโหสิกรรมใช้กับคนเป็นได้ไหม เพราะหลายคนอาจเข้าใจว่าการอโหสิกรรมใช้กับคนที่ล่วงลับไปแล้วเท่านั้น เพื่อให้ดวงจิตวิญญาณของผู้ตายสามารถไปยังภพภูมิตามวาระกรรมของตน โดยไม่มีห่วงใด ๆ เหนี่ยวรั้ง
การอโหสิกรรม คือ การให้อภัย ยกโทษให้แก่ผู้ที่ล่วงเกิน โดยมีความหมายถึงการเลิกแล้วต่อกัน ไม่เอาโทษกัน การเลิกจองเวรกัน การอโหสิกรรมต่อกัน จึงเป็นการขอโทษและยกโทษให้ต่อกัน ระหว่างผู้ที่กระทำและผู้ถูกกระทำ เพื่อจะไม่ถือโทษ โกรธเคือง หรือผูกใจเจ็บ อาฆาตแค้นต่อกัน ดังนั้น สามารถอโหสิกรรมได้ทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นการอโหสิกรรมให้ศัตรู คนเป็นหรือคนที่ตายไปแล้ว รวมไปถึงสรรพสัตว์ทั้งหลายที่อาจล่วงเกินเราโดยเจตนาหรือไม่เจตนา ซึ่งเป็นไปเพื่อการป้องกันตัวหรือปกป้องสิ่งที่หวงแหน เพราะมีบ่อยครั้งที่การล่วงเกินเกิดขึ้นจากความไม่รู้ หรือเกิดโดยไม่ได้เจตนา หากเราใช้โยนิโสมนสิการ ไตร่ตรองให้ละเอียดถึงเหตุของการล่วงเกินนั้น เจริญเมตตาและอโหสิกรรมให้ จิตผู้ให้การอโหสิกรรมก็จะเป็นสุขและเกิดผลบุญทันที โดยไม่ต้องเสียทรัพย์ เสียกำลังใด ๆ และยังเป็นบุญจากการให้ทานอันสูงสุด คือ การให้อภัยทาน การอโหสิกรรม
อโหสิกรรม มี 2 ประเภท คือ
1. การให้อโหสิกรรมต่อผู้ที่ล่วงเกินเรา
การให้อโหสิกรรมต่อผู้ที่ล่วงเกินเรา คือ มีผู้อื่นล่วงเกินเราอาจด้วยทางกาย วาจา หรือใจ แล้วรู้สึกละอายหรือเห็นโทษของกรรมนั้น แล้วมาขอการอโหสิกรรมต่อกัน เพื่อจะได้ไม่ผูกพยาบาทเป็นเจ้ากรรมนายเวรในทุกภพชาติ หรือ มีผู้ล่วงเกินเราแต่เขานั้นไม่รู้สึกละอายหรือเห็นโทษของกรรมนั้น ไม่ได้ขอให้เราอโหสิกรรมให้ แต่เราก็ให้อภัยและอโหสิกรรมให้ภายในใจ เพราะไม่ต้องการผูกเวรผูกกรรมกันต่อไปทั้งในภพนี้และภพหน้า สำหรับผู้ที่ล่วงเกินเรานั้นไม่ว่าจะขออโหสิกรรมหรือไม่ก็ตาม เขาย่อมจักได้รับกรรมตามสมควรแห่งผลกรรมนั้น ๆ ต่อไป
ข้อสำคัญต่อการให้อโหสิกรรม คือ วาจาที่กล่าวยกโทษและใจที่ยกโทษให้นั้นจะต้องตั้งมั่นในการให้อภัยอย่างจริงใจและแท้จริง ไม่ใช่ยกโทษให้แต่คำพูด แต่ใจยังขุ่นมัว ขุ่นข้อง ยึดติดกับความโกรธ หรือหยิบยกเรื่องนั้น ๆ มาพูดตอกย้ำและกล่าวโทษไม่รู้จบสิ้น แต่ควรยกโทษและให้อภัยด้วยความเมตตา เจริญความเมตตาเป็นที่ตั้ง เพื่อเมตตาแก่ตัวเราและเมตตาแก่ผู้ที่ล่วงเกินเราได้อย่างจริงใจ
2. การขออโหสิกรรมจากผู้ที่เราล่วงเกิน
การขออโหสิกรรมจากผู้ที่เราล่วงเกิน คือ การที่เราไปล่วงเกินผู้อื่น ไม่ว่าจะด้วยทางกาย วาจา หรือใจ แล้วเรารู้สึกละอายแก่ใจและเห็นโทษของกรรมนั้น จึงไปขอโทษ ขอให้เขาให้อภัยแก่เรา เพื่อจะได้ไม่ผูกเวรกรรมต่อกัน เรียกว่า การขออโหสิกรรม ซึ่งการล่วงเกินผู้อื่นสามารถเกิดได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม การล่วงเกินทางตรงเกิดจากกระทำต่อผู้อื่นโดยเจตนา ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ส่วนทางอ้อมมักจะเกิดขึ้นโดยไม่เจตนา หรือจากความไม่รู้ เช่น การล่วงเกินบิดามารดา ทั้งที่เกิดจากความโทสะ หรือจากความไร้เดียงสาของวัย ดังนั้น ไม่ว่าเราจะระลึกเหตุการณ์ได้หรือไม่ได้ก็ตาม ควรหาโอกาสกราบเท้าขอขมาบิดามารดา เพื่อเป็นการขออโหสิกรรม ให้ท่านได้ยกโทษ ให้อโหสิกรรม เพื่อไม่ให้เป็นกรรมผูกพันกันต่อไป
กายะกัมมัง วะจีกัมมัง มะโนกัมมัง สัญจิจจะกัมมัง อะสัญจิจะกัมมัง ขะมันตุ เม อโหสิกัมมัง ภะวะตุเม.
กรรมใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ที่ข้าพเจ้าได้เคยล่วงเกินผู้ใดไว้ โดยเจตนา ไม่เจตนา ระลึกได้ ระลึกไม่ได้ ทั้งต่อหน้าหรือลับหลังก็ตาม ไม่ว่าในภพชาติหนึ่งชาติใด ขอให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย โปรดยกโทษให้เป็นการอโหสิกรรมต่อข้าพเจ้า อย่าได้จองเวรจองกรรมกันอีกเลย แม้แต่กรรมใด ๆ ที่ใครได้ทำแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขออโหสิกรรมให้ทั้งสิ้น ยกถวายพระพุทธเจ้าเป็นอภัยทาน ขอจงดลให้เขาเหล่านั้นกลับมีเมตตาจิต คิดเป็นมิตรกับข้าพเจ้า เพื่อจะได้ไม่มีเวรกรรมต่อกันตลอดไป
อย่างไรก็ตาม พุทธศาสนิกชนเชื่อว่าผลของการอโหสิกรรมช่วยให้กรรมเบาบาง จากที่เคยทำอะไรติดขัดก็จะเริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการกราบเท้าขอขมากรรมต่อบิดามารดาหรือผู้มีพระคุณ จะส่งผลให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง และสามารถผ่านพ้นปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่น และผลที่ได้จากการอโหสิกรรมที่เกิดขึ้นทันที คือ ความสุขที่เกิดขึ้นในใจของผู้ให้อโหสิกรรม ซึ่งเป็นความสุขสว่างที่เรียกว่า “บุญ”