เรามักจะได้ยินหลายคนพูดกันว่า กินผักสด ๆ ได้ประโยชน์มากกว่ากินผักปรุงสุก แต่รู้ไหมว่า มีผักห้ามกินดิบ หรือ ห้ามกินผักสดที่ยังไม่ผ่านปรุงสุก เพราะในผักบางชนิดมีสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของเรา จึงต้องนำผักเหล่านั้นไปทำการสลายสารอันตรายด้วยการผ่านความร้อนเสียก่อน ไปดูกันเลยดีกว่าว่ามีผักอะไรบ้างห้ามกินดิบ
1. ถั่วงอก
ถั่วงอก นอกจากจะนำไปปรุงอาหารเมนูต่าง ๆ แล้ว เรามักจะเห็นถั่วงอกสดเป็นผักเคียงมากับอาหารหลายชนิด เช่น ผัดไทย หรือใส่ในก๋วยเตี๋ยว เกาเหลา ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นถั่วงอกสดที่ยังไม่ผ่านการปรุงสุก กินคู่กับอาหารกรุบกรอบ อร่อย เคี้ยวเพลิน แต่รู้ไหมว่าในถั่วงอกดิบมีแบคทีเรียอันตรายหลายชนิด อีกทั้งถั่วงอกมีสารฟอกขาวปนเปื้อน และยังมีไฟเตทสูง ซึ่งเจ้าสารไฟเตทจะเข้าไปจับแร่ธาตุบางชนิดในอาหาร ทำให้ร่างกายไม่ได้รับแร่ธาตุเหล่านั้น ส่งผลให้ร่างกายขาดแร่ธาตุบางชนิด ดังนั้น หากจะกินถั่วงอก ควรนำไปปรุงสุกเพื่อให้ความร้อนทำลายแบคทีเรียและสารไฟเตทเสียก่อน จึงค่อยนำมาทาน
2.ถั่วฝักยาว
ถั่วฝักยาว ที่เรามักจะกินเคียงคู่กับน้ำพริก ขนมจีน หรือเคียงกับเมนูอาหารจานผัด ตำหรือยำต่าง ๆ เช่น ข้าวผัด ส้มตำ ยำ ลาบ แม้ว่าเราจะกินถั่วฝักยาวสดกับอาหารหลากหลายมาจนคุ้นเคย แต่ในถั่วฝักยาวดิบมีไกลโคโปรตีน และ เลคตินสูง อีกทั้งยังมีสารเคมีสะสมจำนวนมาก เมื่อกินถั่วฝักยาวสด อาจทำให้คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย หรือท้องอืดได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาการย่อย ระบบลำไส้ไม่ดี และไม่เหมาะต่อผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน
3. กะหล่ำปลี
กำหล่ำปลีที่มักจะได้มาพร้อมกับอาหารหลายชนิด ตั้งแต่เมนูทอด ๆ อย่าง ลูกชิ้นทอด ไส้กรอก ทอดมัน ไปจนถึงส้มตำ ลาบ ยำต่าง ๆ หรือแม้แต่กะหล่ำปลีฝอยในอาหารสุขภาพอย่าง สลัดผัก แต่กะหล่ำปลีดิบ มีสารออกซาเลต ทำให้เกิดนิ่ว และสารกอยโตรเจน (Goitrogen) เป็นสารพิษที่จะไปขัดขวางไม่ให้ต่อมไทรอยด์จับไอโอดีน หากกินกะหล่ำดิบปริมาณมาก หรือสะสมเป็นเวลานาน ๆ อาจก่อให้เกิดโรคคอหอยพอก และส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของต่อมไทรอยด์ต่ำลงอีกด้วย โดยเฉพาะผู้ที่เป็นไทรอยด์ควรหลีกเลี่ยงการกินกะหล่ำปลีดิบ แต่ควรกินกะหล่ำปลีสุกแทน เพราะสารพิษในกะหล่ำปลีจะสลายได้ด้วยความร้อน
4. แครอท
แครอท มีสารเบต้าแคโรทีน (Beta – carotene) ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งและต่อต้านการเกิดเซลล์มะเร็งได้เป็นอย่างดี แต่ร่างกายจะดูดซึมสารเบต้าแคโรทีนได้ดีกว่า และได้รับประโยชน์จากแครอทที่ผ่านการปรุงสุกมากกว่าการกินแครอทดิบ และไม่ควรกินแครอทในปริมาณมากเกินไป เพราะอาจทำให้ผิวซีด ผิวเหลือง หรือฟันผุได้
5. ผักโขม
ทำไมจึงห้ามกินผักโขมดิบ นั่นเป็นเพราะว่าในผักโขมมีกรดออกซาลิก (Oxalic Acid) ที่จะไปขัดขวางการดูดซึมของธาตุเหล็กและแคลเซียม ทำให้ร่างกายไม่ได้รับธาตุเหล็กและแคลเซียมจากผักโขม นอกจากนี้ ผักโขมปรุงสุกยังช่วยเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระได้ดีกว่าอีกด้วย
6. บรอกโคลี
บรอกโคลี มีสารกอยโตรเจน (Goitrogen) ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวกับที่อยู่ในกะหล่ำปลี เพราะเป็นผักหัว พืชตระกูลเดียวกัน หากทานบรอกโคลีดิบ สารกอยโตรเจนจะเข้าไปยับยั้งการดูดซึมไอโอดีน ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำไอโอดีนไปใช้งานได้ และฮอร์โมนในบรอกโคลียังกระตุ้นให้เกิดโรคไทรอยด์ นอกจากนี้ บรอกโคลีมีน้ำตาลที่จะทำให้เกิดอาการท้องอืดได้ หากทานบรอกโคลีดิบ
7.ดอกกะหล่ำ หรือ กะหล่ำดอก
ดอกกะหล่ำ หรือ กะหล่ำดอก พืชผักตระกูลหัว ซึ่งเป็นผักชนิดเดียวกับบรอกโคลี จึงควรนำไปปรุงสุกก่อนทาน เพราะในดอกกะหล่ำมีสารบางชนิด และน้ำตาลที่ส่งผลต่อระบบย่อยอาหาร อาจทำให้เกิดอาการท้องอืด แน่นท้อง เพราะอาหารไม่ย่อยได้ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย ควรกินกะหล่ำดอกสุกดีกว่า
8. หน่อไม้
หน่อไม้ดิบ มีสารไซยาไนด์ (Cyanide) เป็นสารพิษที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย จนอาจเสียชีวิตได้หากได้รับสารพิษนี้เข้าไปมาก ดังนั้น ไม่ควรทานหน่อไม้สด แต่ควรนำหน่อไม้ไปต้มในน้ำเดือด ให้นานเกิน 10 นาทีขึ้นไป เพื่อให้ความร้อนช่วยสลายสารพิษไซยาไนด์ในหน่อไม้ ก่อนรับประทาน
9. เห็ด
เห็ดทุกชนิดควรนำผ่านความร้อนก่อนทาน อาจนำไปลวก ต้ม หรือผัด เพราะในเห็ดมีผนังเซลล์ที่ย่อยยาก หากกินเห็ดดิบเข้าไป อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด แต่ความร้อนจะช่วยทำลายผนังเซลล์ที่ย่อยยากในเห็ดได้ นอกจากนี้ เห็ดมีสารพิษปนเปื้อนจำนวนมาก อีกทั้งเห็ดเป็นพืชที่เกี่ยวข้องรา จึงควรนำไปล้างให้สะอาด และปรุงสุกก่อนทาน เพื่อความปลอดภัยและห่างไกลจากสารพิษปนเปื้อน
10. มันฝรั่ง
มันฝรั่ง ห้ามกินดิบเด็ดขาด เพราะมันฝรั่งมีสารโซลานีน (Solanine) และ สารพิษไกลโคแอลคาลอยด์ หรือ Glycoalkaloids คือ สารพิษที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อปกป้องตัวเองจากแมลงศัตรูพืช โดยจะมีสารพิษเหล่านี้อยู่มากที่บริเวณหน่อที่งอกออกมาจากส่วนหัว หากกินมันฝรั่งดิบเข้าไป จะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น ใจเต้นเร็ว หัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้ การกินมันฝรั่งให้ปลอดภัย จึงควรนำไปต้มให้สุกด้วยความร้อนจัด เพื่อลดปริมาณสารพิษลงเสียก่อน
11. มันสำปะหลัง
พืชที่ไม่ควรทานดิบเช่นเดียวกับมันฝรั่ง เนื่องจากมันสำปะหลังมีสาร Cyanide เป็นพิษต่อร่างกายในปริมาณสูง ก่อให้เกิดอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก น้ำลายฟูมปาก ชา ชัก และอาจเสียชีวิตได้ หากได้รับพิษจำนวนมาก หรือช่วยเหลือไม่ทัน วิธีการลดพิษมันสำปะหลัง คือ ปอกเปลือก แล้วนำไปผ่านความร้อนให้สุกก่อนทานทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการอบ การปิ้ง หรือเชื่อม นอกจากจะกินได้อย่างปลอดภัย ยังทำให้มีรสหวานอร่อยอีกด้วย
12. มันเทศ หรือ มันหวาน
มันเทศ หรือ มันหวาน มีสารไซยาไนด์ (Cyanide) เช่นเดียวกับมันสำปะหลัง แต่มีปริมาณน้อยกว่า และในมันเทศมีสาร Oxalates มีฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมแคลเซียมและแร่ธาตุสำคัญหลายชนิดเข้าสู่ร่างกาย และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการให้เกิดนิ่วในไตอีกด้วย ทางที่ดี จึงไม่ควรทานมันเทศหรือมันหวานดิบ แต่ควรนำไปล้างให้สะอาด แล้วนำไปผ่านความร้อนให้สุก ไม่ว่าจะเป็นวิธีนึ่ง อบ ย่าง เผา หรือต้ม เพื่อกำจัดสิ่งปนเปื้อนและสารพิษในมันเทศก่อนรับประทาน