ประวัติความเป็นมาของวันออกพรรษา
วันออกพรรษา หรือ วันพระพุทธเจ้าเปิดโลก อ้างอิงจากคัมภีร์อรรถกถาธรรมบทได้มีบันทึกไว้ว่า หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ได้ทรงเทศนาโปรดสัตว์ทั้งหลายในแคว้นต่าง ๆ ตั้งแต่เมืองราชคฤห์ เมืองพาราณสี เมืองสาวัตถี ตลอดจนถึงเมืองกบิลพัส ซึ่งเป็นปิตุภูมิของพระองค์ และครั้นได้ทรงเทศนาโปรดพระประยูรญาติทั้งหลายถ้วนหน้าแล้ว ก็ทรงปรารถนาจะสนองคุณมารดาที่ได้สิ้นพระชนม์หลังประสูติพระองค์ได้เพียง 7 วัน แล้วไปเกิดเป็นางสวรรค์อยู่ชั้นดุสิต ดังนั้นในพรรษาที่ 7 หลังตรัสรู้ พระพุทธองค์ได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อเทศนาพระอภิธรรมโปรดพุทธมารดาจนถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จึงได้เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาประทับที่เมืองสังกัสสะ โดยมีประชาชนมาคอยเฝ้ารอเพื่อต้อนรับพระพุทธองค์อย่างเนืองแน่น และยังเป็นวันที่โลกทั้ง 3 ภพ คือ สวรรค์ มนุษย์ และ นรก ต่างสามารถแลเห็นกันได้
ด้วยเหตุนี้ทำให้วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันแห่งการ ตักบาตรเทโวโรหณะ คือ การตักบาตรเพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้าได้เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และทำบุญตักบาตรให้กับดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเป็นกิจกรรมทางศาสนาที่สืบเนื่องต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
ตักบาตรเทโวโรหณะ ในปี 2565 จะตรงกับวันที่ 11 ตุลาคม คือ ถัดจากวันออกพรรษา 2565 ตรงกับวันที่ 10 ตุลาคม โดยจะมีพุทธศาสนิกชนตักบาตรในวันนี้มากเป็นพิเศษ เพราะยึดถือปฏิบัติสืบเนื่องต่อกันมา โดยจะมีพระสงฆ์จำนวนมากมารับบิณฑบาตร ซึ่งอาหารที่นิยมตักบาตรที่นอกจากจะเป็นอาหารคาวหวานทั่วไปแล้ว ยังมี ข้าวต้มลูกโยน ที่สืบเนื่องมาจากในสมัยพุทธกาลที่ผู้คนรอใส่บาตรเนืองแน่น จนหลายคนไม่สามารถเข้าถึงพระได้ ทำให้ต้องปั้นข้าวเพื่อโยนลงบาตรและได้กลายเป็นประเพณีสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
วันออกพรรษา เรียกได้ว่าเป็นวัน วันปวารณา หรือ วันมหาปวารณา คือวันที่พระสงฆ์ทำสังฆกรรมคือเปิดโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์ว่ากล่าวตักเตือนกันได้โดยไม่คำนึงชั้นยศ
ในสมัยถพุทธกาล หลังจากออกพรรษา เหล่าภิกษุทั้งหลายที่จำพรรษาในที่อื่น จะเดินทางมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ซึ่งพระพุทธองค์ก็จักไถ่ถามการประพฤติปฏิบัติระหว่างจำพรรษาของภิกษุสาวก แต่ปรากฏว่ามีภิกษุกลุ่มหนึ่งได้ทำการปิดวาจาไม่พูดต่อกัน เพราะเกรงว่าจะทำให้เกิดการทะเลาะกันได้ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบก็ได้ทรงตำหนิ และตรัสสอนว่าผู้เจริญแล้วไม่ควรกระทำการเช่นนั้น เพราะการกระทำดังกล่าวเปรียบเสมือนการกระทำของสัตว์เดรัจฉาน ที่ไม่มีการพูดจาแสดงความห่วงใยและเมตตาต่อกัน จากนั้นพระองค์จึงได้ทรงวางระเบียบวินัยเพื่อให้ยึดถือปฏิบัติในหลักเดียวกัน โดยสงฆ์ที่จำพรรษาครบ 3 เดือน ให้มีการทำปวารณา คือ การว่ากล่าวตักเตือนด้วยเมตตาจิต เพื่อเปิดโอกาสให้แสดงความปรารถนาดีเตือนแก่สงฆ์ที่ประพฤติที่ไม่สมควร ให้ปรับและแก้ไข โดยผู้รับการตักเตือนเองก็ต้องมีจิตที่เปิดกว้าง น้อมรับฟังและนำไปแก้ไข แต่ถ้าหากมีสิ่งใดที่เข้าใจผิดกัน ก็สามารถชี้แจงเพื่อปรับความเข้าใจให้ตรงกัน เป็นการล้างความบาดหมางต่อกัน และเสริมสร้างความสามัคคีให้แก่หมู่คณะสงฆ์
1. รักษาศีล ฟังธรรมเทศนา ทำบุญ ตักบาตร ถวายสังฆทาน หรือภัตตาหารแด่ภิกษุสงฆ์ สามเณร ที่วัด
2. ทำบุญตักบาตรเทโว ทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ
3. ทำความสะอาดบ้านเรือนให้สะอาด ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน สถานที่ราชการ สถานที่สำคัญต่าง ๆ และประดับธงธรรมจักรตามวัด และสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา
4. มีเทศมหาชาติ หรือ จัดการบรรยายธรรม เพื่อให้ความรู้หลักศาสนาที่ถูกต้องแก่ประชาชน
5. งดการเที่ยวแหล่งอโคจร ละเว้นอบายมุข รวมถึงการฆ่าสัตว์และบริโภคเนื้อสัตว์