ช่วงนี้เราต้องเผชิญกับสถานการณ์ฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งนอกจากความเสียหายที่เกิดจากมวลน้ำแล้ว ยังเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อที่มากับน้ำท่วม ซึ่งเป็นอันตรายทั้งต่อคนและสัตว์ ซึ่งเราจะต้องรู้วิธีป้องกันโรคที่มากับน้ำ เพราะมีแนวโน้มว่าบ้านเราอาจต้องอยู่ในสถานการณ์น้ำท่วมไปอีกสักระยะ โรคที่เกิดจากน้ำเป็นสื่อ มีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย
1. โรคระบบทางเดินหายใจ
ส่วนใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากไวรัส ทำให้ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ตั้งแต่จมูก คอ หลอดลม ไปจนถึงปอด เช่น โรคหวัด โรคไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก โรคซาร์ส เป็นต้น ส่วนโรคติดเชื้อจากแบคทีเรีย ได้แก่ วัณโรค ปอดบวม เป็นต้น ซึ่งโรคติดเชื้อทางเดินหายใจสามารถพบได้ในทุกวัย และอาจเป็นได้บ่อยหากร่างกายอ่อนแอ เช่น โรคหวัด และสามารถหายได้ด้วยการดูแลสุขภาพตนเอง
อาการ : ปวดศีรษะ มีไข้ คัดจมูก มีน้ำมูก ไอ จาม เจ็บคอ อ่อนเพลีย ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อยร่างกาย
วิธีป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจ : ดูแลร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ เสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกายด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ป่วยไข้หวัด สวมหน้ากากอนามัยหากมีความจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วย หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ
2. โรคฉี่หนู
โรคฉี่หนู หรือ โรคเลปโตสไปโรสิส คือ โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน จากการได้รับเชื้อ Leptospira interrogans ซึ่งผ่านทางการสัมผัสสารคัดหลั่ง อย่าง น้ำลาย ปัสสาวะ หรือเลือด ของสัตว์พาหะนำโรคโดยตรง อย่าง หนู โค กระบือ สุกร แมว หรือ สุนัข หรือได้รับเชื้อผ่านทางรอยแผล รอยขีดข่วน รอยถลอกบริเวณผิวหนัง หรือเยื่อบุต่าง ๆ อย่าง ตา จมูก หรือ ปาก ซึ่งอาจจากการดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป จากการลุยน้ำท่วมขัง หรือทำกิจกรรมในพื้นที่ชื้นแฉะที่มีเชื้อปนเปื้อน
ผู้ป่วยโรคเลปโตสไปโรสิสบางรายอาจมีอาการรุนแรงจนเสียชีวิตได้ เนื่องจากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมในระยะแรก เพราะโรคฉี่หนูอาการมักไม่เจาะจง เช่น ปวดศีรษะ มีไข้ คลื่นไส้ ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ฯลฯ ซึ่งอาการส่วนใหญ่จะคล้ายกับอาการโรคติดเชื้ออื่น ๆ ดังนั้น ผู้ป่วยจะต้องได้รับการวินิจฉัยโรคและรักษาได้อย่างรวดเร็ว จึงจะป้องกันอาการรุนแรงหรือความสูญเสียที่อาจตามมาได้
อาการ : มีไข้สูง ปวดศีรษะมาก ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ เบื่ออาหาร ตาแดง
วิธีป้องกันโรคฉี่หนู : หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำท่วมหรือน้ำสกปรก สวมรองเท้าบูทยางทุกครั้งที่จำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ทำความสะอาดที่พักไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยของหนู
3. โรคระบบทางเดินอาหาร
มีหลายปัจจัยด้วยกันที่จะทำให้ป่วย แต่ส่วนใหญ่โรคระบบทางเดินอาหาร เกิดจากได้รับเชื้อแบคทีเรีย ก่อให้เกิดอาการของอาหารเป็นพิษ โรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือไส้ติ่งอักเสบ แต่ถ้าเป็นกรณีของการได้รับเชื้อไวรัสจะมาจากไวรัสตับอักเสบ หรืออาจเกี่ยวเนื่องมาจากการเป็นมะเร็ง เช่น มะเร็งลำไส้ มะเร็งตับ มะเร็งหลอดอาหาร หรือแม้แต่จากพันธุกรรม และการดื่มสุรา
อาการ : ปวดท้อง อุจจาระเหลว มีมูกเหลือด คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตัว มีไข้ ตัวเหลือง ตาเหลือง
วิธีป้องกันโรคระบบทางเดินอาหาร : ทานอาหารปรุงสุกเสมอ ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ทุกครั้งก่อนทานอาหารหรือหลังใช้ห้องน้ำ ทำความสะอาดร่างกายให้สะอาดหลังผ่านการลุยน้ำท่วม
4.โรคน้ำกัดเท้า
โรคน้ำกัดเท้าเกิดจากการที่มีการแช่น้ำนาน ๆ หรือแช่น้ำบ่อย จนทำให้เซลล์ผิวหนังบวม เปื่อย ฉีกขาด เกิดอาการระคายเคือง และติดเชื้อในที่สุด โดยเฉพาะบริเวณผิวหนังที่มีการเสียดสี เช่น ง่ามนิ้วเท้า ฝ่าเท้า เป็นต้น โดยอาการโรคน้ำกัดเท้าแบ่งได้ 3 ระยะ คือ
อาการ : คันตามซอกนิ้วเท้า ผิวหนังลอกเป็นขุย ผิวหนังพุพอง อักเสบ เท้าเปื่อยเป็นหนอง
วิธีป้องกันโรคน้ำกัดเท้า : ใส่รองเท้าบูทยางกันน้ำทุกครั้งที่ต้องมีการลุยน้ำ ล้างทำความสะอาดเท้าด้วยสบู่หลังจากเดินลุยน้ำหรือแช่น้ำ และเช็ดเท้าให้แห้งเสมอ กรณีมีบาดแผลที่เท้าควรฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์
5.โรคตาแดง
โรคตาแดงคือโรคที่ติดต่อได้ง่ายจากการสัมผัสเชื้อโรคโดยตรง เช่น การสัมผัสกับน้ำตาหรือขี้ตาของผู้ป่วย ซึ่งอาจจากการใช้สิ่งของร่วมกัน การหายใจหรือไอจามรดกัน ซึ่งการแพร่เชื้อมักจะเกิดในสถานที่มีผู้คนอยู่รวมกันมาก ๆ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน รถโดยสาร สถานีรถไฟฟ้า แหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น และมักจะพบโรคตาแดงในกลุ่มเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากเด็กไม่ค่อยมีการป้องกันตนเองเท่าผู้ใหญ่
อาการ : ปวดตา ระคายเคืองตา น้ำตาไหล กลัวแสง มีขี้ตามาก เยื่อบุตาขาวอักเสบแดง หนังตาบวม หากมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย จะมีขี้ตามากจนทำให้ลืมตาได้ยากหลังจากตื่นนอน
วิธีป้องกันโรคตาแดง :