การทำงานหนัก นอนน้อย จนร่างกายอ่อนแอ จนเป็นสาเหตุให้เจ็บป่วยและมีโรคต่าง ๆ ตามมาได้ “โรคงูสวัด” โรคยอดฮิตของคนพักผ่อนน้อย โหมงานหนัก ก็ไม่เว้นเช่นกัน
โรคงูสวัดคืออะไร
งูสวัด คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อ VZV (Varicella zoster virus) หรือ เชื้อไวรัสวาริเซลลา ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันที่ก่อให้เกิดโรคอีสุกอีใส สามารถหายได้เองเมื่อเวลาผ่านไป และกลับมากำเริบได้อีก หากปล่อยปละละเลย หรือไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจทำให้โรคเพิ่มความรุนแรงขึ้นจนอาจเสียชีวิตได้
โรคงูสวัดมีอาการอย่างไร
อาการของโรคงูสวัด จะมีตุ่มใส บวมแดง คล้ายกับอีสุกอีใส แต่จะไม่ขึ้นทั่วร่างกาย อาจขึ้นเป็นกลุ่มในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง หรือขึ้นเรียงเป็นแถวแนวยาวตามเส้นประสาท เช่น รอบเอว รอบหลัง ต้นขา หรือใบหน้า เป็นต้น มีอาการปวดเจ็บแสบบริเวณที่เป็นผื่น และอาจมีอาการไข้ หรือปวดเมื่อยร่วมด้วย ในบางรายอาจรุนแรงปวดเส้นประสาทในบริเวณที่เป็นผื่น และอาจเป็นนานหลายเดือนหรือเป็นปี หากงูสวัดขึ้นบริเวณเส้นประสาทสำคัญ เช่น เส้นประสาทดวงตา อาจทำให้ตาบอด หรือกระทบต่อเยื่อหุ้มสมองจนทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
พฤติกรรมแบบไหนที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคงูสวัด
1. ทำงานหนัก
การทำงานหนัก อาจไม่ได้ฆ่าใครตาย แต่สามารถทำให้ร่างกายอ่อนแอและเจ็บป่วยจนตายได้ โดยโรคงูสวัด (Herpes zoster) สัมพันธ์กับการทำงานหนัก เกิดความเครียดสะสม จนทำให้ร่างกายอ่อนแอ ส่งผลให้เชื้องูสวัดที่แฝงอยู่ในร่างกายแข็งแรงขึ้น และเจริญเติบโตจนก่อโรคขึ้นมาได้
2. พักผ่อนน้อย
การพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือพักผ่อนน้อยเกินไป เป็นจุดเริ่มต้นของอาการเจ็บป่วย และนำไปสู่โรคต่าง ๆ ตามมาได้ เนื่องจากภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีประวัติเป็นอีสุกอีใสมาก่อน เชื้อไวรัสที่ยังคงแฝงอยู่ในร่างกาย กลับมาก่อโรคใหม่ กลายเป็น โรคงูสวัด นั่นเอง
3. ทานอาหารไม่มีประโยชน์
อาหาร คือ สิ่งจำเป็นต่อสุขภาพ โดยเฉพาะสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรง และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอในส่วนต่าง ๆ ในร่างกายของเรา หากอยากมีสุขภาพดี ก็จะร้องทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ต่อสู้และต่อต้านเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. ขาดการออกกำลังกาย
ผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย จะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพตามมา ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ได้ง่าย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคอ้วน เป็นต้น และจะไปกระตุ้นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคงูสวัดออกมากำเริบก่อนอายุ 60 ปี
5. ใช้ยากดภูมิ
ยากดภูมิ คือ ยาจำพวกเสตียรอยด์ ยาบรรเทาอาการอักเสบ หากมีการใช้ยาเหล่านี้เป็นประจำ จะส่งผลให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำลง ทำให้ไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสและเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ จนนำไปสู่การเกิดโรคงูสวัดในที่สุด