Chorea โรคการเคลื่อนไหวผิดปกติ รักษาหายได้ถ้ารีบพบแพทย์ 

E

Chorea อ่านว่า โคเรีย แต่ไม่ได้แปลว่าประเทศเกาหลี หรือติ่งเกาหลีใด ๆ แต่มันคือชื่อในการเรียกโรคชนิดหนึ่งที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกาย ซึ่งเชื่อว่าหลายคนคงหูผึ่ง ห๊ะ! โรคอะไรนะ มีโรคชื่อนี้ด้วยหรือ อย่างแน่นอน เพราะเป็นคนหนึ่งที่ไม่ชื่อหูในตอนแรกที่ได้ยินชื่อโรคนี้ในครั้งแรกเช่นกัน แล้วเจ้าโรคที่ว่านี้จะเป็นโรคเกี่ยวกับอะไร อาการของโรคโคเรียเป็นอย่างไร ร้ายแรงหรือไม่ และแนวทางการรักษาต้องทำยังไง เราไปรู้จักกับโรคโคเรียกันเลยดีกว่าค่ะ

โรค Chorea คืออะไร 

โรคโคเรีย หรือ Chorea Movement คือ โรคการเคลื่อนไหวผิดปกติ อาการสั่นกระตุก ร่างกายบิดเกร็ง ขยับแขน-ขา ส่ายไปมาต่อเนื่อง ไม่เป็นจังหวะ คล้ายการรำ คาดเดาทิศทางไม่ได้ หรือมีท่าทางการเดินผิดธรรมชาติ โดยที่ผู้ป่วยไม่สามารถหยุดการเคลื่อนไหวได้เอง ทำให้รบกวนกิจวัตรประจำวัน และความรู้สึกทางจิตใจตามมาได้ เช่น จับสิ่งของลำบาก คว้าวัตถุไม่ได้ ปัดของหล่นเดินเซ โยกเยก หกล้ม เป็นต้น  

สาเหตุการเกิดโรค Chorea

Chorea เกิดจากการทำงานของระบบสมองและประสาทส่วนเบซัลแกงเกลีย (Basal ganglia) บกพร่อง ซึ่งอาจเกิดกับร่างกายทุกส่วนพร้อมกัน หรือ เกิดขึ้นกับร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง โดยสาเหตุที่พบได้บ่อย ได้แก่ 

  • หลอดเลือดสมองตีบในบางตำแหน่งของสมอง
  • ความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น โรค Huntington
  • ความผิดปกติทางเมตะบอลิกของร่างกาย เช่น โรค Wilson 
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยา Haldol 
  • ภาวะทางภูมิคุ้มกันต้านทานโรคทำงานผิดปกติ เช่น โรค SLE
  • การติดเชื้อไวรัสในสมอง เช่น โรค Mad cow disease (โรควัวบ้า)

อีกหนึ่งในโรคที่มีความผิดปกติทางการเคลื่อนไหวที่พบได้บ่อย ได้แก่ Parkinson’s disease หรือ โรคพาร์กินสัน เกิดจากการสูญเสียเซลล์ในสมองส่วนที่มีหน้าที่สร้างสารโดปามีน สารที่เรียบเรียงความคิด ควบคุมอารมณ์ การเคลื่อนไหว และการสื่อสาร ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย รวมไปถึงการทรงตัว มักจะมีอาการเกร็งหรือสั่นที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง ทำให้เคลื่อนไหวได้ช้าลง โดยเฉพาะที่มือข้างหนึ่งข้างใด ซึ่งส่วนใหญ่มือจะสั่นเมื่ออยู่เฉย ๆ แต่อาการสั่นจะลดลงเมื่อเคลื่อนไหว 

Chorea รักษาอย่างไร 

สำหรับผู้ป่วยโรคการเคลื่อนไหวผิดปกติ การรักษาจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ การรักษาต้นเหตุของรอยโรค และ การรักษาตามอาการ ซึ่งโดยธรรมชาติในร่างกายของคนเราจะมีความสามารถซ่อมแซมตัวเองเมื่อมีการบาดเจ็บเกิดขึ้นได้ ผู้ป่วยบางรายเมื่อมีอาการของโรคก็สามารถหายได้เองในเวลาหนึ่ง โดยไม่ต้องทำการรักษาใด ๆ แต่ในบางกรณีที่ร่างกายได้รับความเสียหายเกินเยียวยาด้วยตัวมันเอง จึงทำให้ผู้ป่วยบางคนไม่สามารถหายได้เองตามธรรมชาติได้ ต้องทำการรักษาทางการแพทย์ให้เหมาะสมกับอาการและรูปแบบของโรค ดังเช่นกรณีต่อไปนี้ 

1. การรักษาโรคด้วยการใช้ยาร่วมกับการทำกายภาพบำบัด ในผู้ป่วยพาร์กินสัน  โดยจะให้ยาที่มีผลต่อการเพิ่มสารโดปามีนในสมอง เพื่อให้ร่างกายมีการหลั่งสารโดปามีนตามความเหมาะสมของร่างกาย ช่วยควบคุมความเคลื่อนไหวของอวัยวะให้เป็นปกติ โดยผู้ป่วยพาร์กินสันจะต้องกินยาต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการปรับปริมาณยาให้เหมาะสมกับอาการ เพื่อป้องกันผลไม่ให้เกิดผลข้างเคียงของยา 

2. การรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจำวันได้อย่างเป็นปกติ เนื่องจากการทำกายภาพบำบัดเป็นการบริหารอวัยวะในแต่ละส่วน ให้สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเหมาะสมและตอบสนองในการใช้งานได้เป็นอย่างดี  

3. การผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก ซึ่งวิธีนี้จะช่วยควบคุมอาการของโรคได้อย่างต่อเนื่อง และยังเหมาะในการรักษาผู้ป่วยที่รักษาด้วยยามาเป็นเวลานาน เพราะฤทธิ์ยาจะเริ่มเสื่อมประสิทธิภาพ ระยะเวลาในการออกฤทธิ์สั้นลง หรืออาจใช้ยามานานจนยาเริ่มจะไม่ได้ผล หรือให้ผลน้อยลง การใช้วิธีผ่าตัดจึงนับว่าเหมาะสม 

4. การฉีดยาเพื่อควบคุมอาการเฉพาะจุด สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่มีการเคลื่อนไหวผิดปกติเฉพาะส่วน ซึ่งวิธีการฉีดยาจะออกฤทธิ์ลดการหลั่งสารอะเซติลโคลีน ช่วยลดการหดตัวของกล้ามเนื้อ ระงับความเจ็บปวด และยังช่วยลดการทำงานของระบบประสาทโดยอัตโนมัติ ทำให้ควบคุมอาการเกร็ง สั่น และการกระตุกของอวัยวะในร่างกายผู้ป่วยได้ดี 

หากรู้สึกว่าร่างกายของตนหรือของคนใกล้ชิดมีความผิดปกติตามอาการที่กล่าวมาในบทความนี้ อย่าได้นิ่งนอนหรือชะล่าใจคิดว่าไม่เป็นไร ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อให้ทำการวินิจฉัยให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะได้ทำการรักษาได้อย่างเหมาะสมและมีโอกาสที่จะหายได้เป็นปกติ 


Leave a comment
Your email address will not be published. Required fields are marked *