บุญกฐิน มหาทาน กุศลใหญ่ที่ทำได้เพียงปีละครั้ง

E

การทอดกฐิน หรือ บุญกฐิน ประวัติทางศาสนา คือ การถวายทานที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ในคัมภีร์พระวินัยปิฎก ชื่อ มหวัคค์ เรื่อง กฐินขันธกะ (หมวดว่าด้วยกฐิน) ซึ่งมีใจความดังนี้ 

ครั้งหนึ่ง มีภิกษุชาวปาไฐยรัฐ หรือ เมืองปาวา จำนวน 30 รูป ได้มุ่งหน้าเดินทางไปยังเมืองสาวัตถี ด้วยหวังจะเข้าเฝ้าพระผู้มีภาคเจ้า ซึ่งประทับอยู่ ณ วัดเชตุวันมหาวิหาร แต่พอเดินทางมาถึงเมืองสาเกตุ ก็เข้ากาลพรรษาเสียก่อน ภิกษุทั้ง 30 รูป จึงต้องจำพรรษาที่เมืองสาเกตุในระหว่างทาง ซึ่งขณะที่จำพรรษาอยู่นั้น เหล่าภิกษุได้มีความกระวนกระวายใจ เพราะต้องการเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ดังนั้น เมื่อออกพรรษา ภิกษุทั้ง 30 รูป รีบออกเดินทางไปเข้ายังเมืองสาวัตถีทันที ด้วยความยากลำบาก เนื่องจากฝนยังตกชุก ดินโคลนระหว่างทางได้เลอะเปรอะเปื้อนจีวรภิกษุทั้งหลาย และเมื่อได้เข้าเฝ้าพระศาสดาพระพุทธองค์ได้ตรัสถามถึงการเดินทาง จนได้ทราบถึงความลำบากของภิกษุเหล่านั้น จึงเป็นเหตุให้มีพระพุทธานุญาตให้กรานกฐิน โดยให้ภิกษุผู้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาสสามารถรับผ้ากฐินหลังวันออกพรรษา (ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12) 

monks buddhist sangha give alms buddhist monk

นอกจากนี้ ภิกษุผู้ได้กรานกฐินจักได้อานิสงส์ 5 ประการ ในเวลาอานิสงส์กฐิน (นับจากวันที่รับกฐิน – วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4) ดังนี้ 

  1. ไปไหนไม่ต้องแจ้งหรือบอกลาภิกษุด้วยกัน
  2. ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสามผืน สามารถขาดผ้าใดผ้าหนึ่งได้
  3. เก็บอดิเรกจีวรได้ตามปรารถนาโดยที่ยังไม่ได้วิกัปป์ และอธิษฐานโดยไม่ต้องอาบัติ 
  4. ฉันอาหารเป็นคณะโภชนะได้ (รับนิมนต์ที่เขานิมนต์โดยออกชื่อโภชนะฉันได้)
  5. ภิกษุที่กรานกฐินจักได้ลาภอันเประเสริฐประเสริฐ
dFQROr7oWzulq5Fa3zKjJ0ELHlvosCLKAoWadln41ECzpaDwPwmNrwDg5MkqQQPlAYl
ภาพจาก ไทยรัฐ

ความหมายของกฐินหมายความว่าอย่างไร

กฐิน เป็นคำบาลี แปลว่า กรอบไม้ หรือ ไม้แบบ (สะดึง) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ไม้สำหรับขึงผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรในมัยโบราณ และเรียกผ้าที่เย็บสำเร็จด้วยวิธีนี้ว่า ผ้ากฐิน คือ ผ้าเย็บจากไม้แบบ นั่นเอง 

สำหรับผ้าที่จะทำเป็นผ้ากฐิน จะเป็นผ้าใหม่ ผ้าเทียมใหม่ ผ้าเก่า หรือ ผ้าบังสุกุล ก็ได้ แต่ผ้าเหล่านี้จะต้องมีขนาดที่สามารถทำไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งได้  

ผ้าไตรจีวรของพระสงฆ์มีอะไรบ้าง 

ผ้าไตรจีวรของพระสงฆ์ ประกอบไปด้วย 1) สบง คือ ผ้านุ่ง 2) จีวร คือ ผ้าห่ม 3) สังฆาฏิ คือ ผ้าพาด หรือผ้าช้อนห่ม ซึ่งผ้าเหล่านี้คือผ้าองค์กฐิน ส่วนอื่น ๆ ไม่ใช่องค์กฐิน แต่เป็นบริวารกฐิน ซึ่งจะมีมากน้อยเท่าไรก็ได้ ตามแต่ศรัทธาของผู้ถวาย 

กฐินตามอรรถกถาฎีกา มี 2 ลักษณะ ได้แก่ 

1. จุลกฐิน คือ การทอดกฐินที่ต้องทำด้วยความรีบด่วน โดยต้องอาศัยความสามัคคีของผู้ศรัทธาจำนวนมาก เพื่อผลิตผ้าไตรจีวรด้วยมือให้สำเร็จภายในหนึ่งวัน ตั้งแต่การเก็บฝ้าย การกรอ การทอ ตัดเย็บ และย้อม ทำให้เป็นขันธ์ ตามขนาดพระวินัย แล้วทอดถวายภายในวันนั้น 

2. มหากฐิน คือ การจัดหาผ้ามาเป็นองค์กฐิน พร้อมเครื่องไทยธรรม บริวารกฐินจำนวนมาก โดยไม่ต้องเร่งรีบแบบจุลกฐิน แต่มีระยะเวลาในการรวบรวมหาทุนเพื่อนำไปทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาต่อไป เช่นทำการบูรณะซ่อมแซมภายในวัด โดยมหากฐินสามารถมีเจ้าภาพเพียงคนเดียว หรือ กฐินสามัคคีก็ได้ 

ทำไมการถวายกฐินจึงได้บุญมาก แตกต่างจากการถวายทานอย่างอื่นอย่างไร

มีความเชื่อมาตั้งแต่โบราณ การทอดกฐินเป็นพิธีบุญที่มีอานิสงส์แรง  เพราะคำว่า กฐิน นอกจากจะแปลว่าไม้สะดึงแล้ว แต่ในภาษาฮินดี กฐินะ แปลว่า “ยาก” เนื่องจากการทอดกฐินเป็นการทำบุญที่เกิดได้ยาก หากไม่ศรัทธาจริง ๆ ก็ยากที่จะทำได้ ด้วยบุญกฐินมีข้อจำกัดมากมาย ซึ่งแตกต่างไปจากการถวายทานอื่น ๆ  และห้ามขาดข้อใดหรือผิดแปลกไป ไม่เช่นนั้น จะถือว่าเป็นการทำบุญทั่วไป ไม่ใช่การทำบุญกฐิน ข้อจำกัดอันเป็นสาเหตุที่ทำให้การทำบุญกฐินได้บุญมาก ประกอบไปด้วย  

  1. จำกัดประเภททาน คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น ไม่สามารถถวายเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เหมือนทานอย่างอื่นได้ 
  2. จำกัดงาน คือ ภิกษุที่กรานกฐิน ต้องตัด เย็บ ย้อม และครองให้เสร็จภายในวันที่กรานกฐิน 
  3. จำกัดเวลา คือ มีระยะเวลาในการถวายเพียง 1 เดือน นับตั้งแต่วันออกพรรษา ตามพระบรมพุทธานุญาต จึงถือว่ากฐินเป็นกาลทาน
  4. จำกัดคราว คือ วัดหนึ่ง ๆ สามารถรับกฐินได้เพียงปีละ 1 ครั้ง เท่านั้น 
  5. จำกัดไทยธรรม คือ ผ้าที่ถวายจะต้องถูกต้องตามหลักพระวินัยที่กำหนด
  6. จำกัดผู้รับ คือ ภิกษุที่รับกฐิน ต้องเป็นผู้ที่จำพรรษาในวัดนั้นอย่างครบถ้วน ไม่ขาดพรรษา และภิกษุที่กรานกฐินจะต้องมีไม่น้อยกว่า 5 รูป 
  7. กฐิน เกิดจากพุทธานุญาตของพระพุทธเจ้าโดยตรง ตามประวัติในข้างต้น แตกต่างจากทานอื่น ๆ ที่เกิดจากผู้อื่นร้องขอ แล้วพุทธองค์ทรงอนุญาต เช่น นางวิสาขาทรงขออนุญาตถวายผ้าอาบน้ำฝน 

อานิสงส์บุญกฐิน 

พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้ ใครที่ได้ทอดกฐิน หรือมีส่วนร่วมในการทำบุญทอดกฐิน จะปรารถนาเป็นพุทธเจ้าก็ได้ อัครสาวกก็ได้ หรือพระอรหันต์ก็ได้ และเมื่อผลบุญที่สะสมมาเริ่มน้อยลง ก็จะไปเป็นพระมหากษัตริย์ 500 ชาติ เป็นมหาเศรษฐี 500 ชาติ เป็นอนุเศรษฐี 500 ชาติ เป็นคหบดีอีก 500 ชาติ ตามลำดับ นอกจากนี้ อานิสงส์ของการร่วมทำบุญทอดกฐินยังมีอีกมากมาย อาทิ เช่น 

  1. ทำให้เป็นผู้มีจิตใจบริสุทธิ์ ผ่องใส และสดชื่นอยู่เสมอ 
  2. ทำให้เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์สินมาก ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน 
  3. ทำให้เป็นผู้มีจิตใจตั้งมั่น เป็นสมาธิและเข้าถึงธรรมได้โดยง่าย 
  4. ทำให้มีรูปงาม ผิวพรรณงาม เป็นที่รักของคนทั่วไป 
  5. เป็นผู้สามารถใช้ทรัพย์สมบัติให้เกิดกุศลติดตัวไปในภพเบื้องหน้าได้อย่างเต็มที่
  6. ทำให้มีชื่อเสียง เกียรติคุณ เป็นที่ยกย่องสรรญเสริญของผู้คนและเทวดา

Leave a comment
Your email address will not be published. Required fields are marked *