เลือกซื้อผ้าไตรจีวรถวายพระ นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง 

E

ในปัจจุบัน ผ้าไตรจีวรมีหลากหลายแบบ มีหลายชนิดให้ผู้มีจิตศรัทธาได้เลือกซื้อไปถวายภิกษุ แต่ถึงคนไทยส่วนใหญ่จะเป็นชาวพุทธ แต่เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อย เข้าใจผิดในเรื่องของพระไตร และไม่รู้วิธีการเลือกซื้อผ้าไตรจีวรถวาย สำหรับนำไปถวายภิกษุและวัดต่าง ๆ easenews มีวิธีการเลือกซื้อผ้าไตรแบบไหน พระสงฆ์สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด  

70949167 2376438242404862 6472132165902532608 n
ภาพจาก https://www.facebook.com/TrijeevornOnline

ผ้าไตรมีกี่แบบ

ก่อนอื่นเราต้องรู้ว่าชนิดของผ้าไตรมีแบบไหนบ้าง และผ้าไตรแต่ละชนิดใช้ประโยชน์ในด้านใด โดยคำว่า ไตร แปลว่า 3 ดังนั้น ผ้าไตร จึงประกอบไปด้วยผ้า 3 ผืน ได้แก่ 1) จีวร  2) สบง และ 3) สังฆาฏิ  แต่ถ้าแบ่งประเภทของผ้าไตร สามารถแยกออกได้ 2 แบบหลัก ๆ ได้แก่ 

1. ผ้าไตรครอง หรือ ผ้าไตรเต็ม คือ ผ้าไตรครบชุด สำหรับพระใช้สวมครอง เป็นผ้าผืนหลักสำหรับการนุ่งห่ม โดยไตรครองจะมีส่วนประกอบทั้งหมด 7 ชิ้น ด้วยกัน 

  • จีวร คือ ผ้าสำหรับห่ม ซึ่งเป็นผ้าที่พระสวมครองทั่วไป
  • สบง คือ ผ้าสำหรับนุ่ง เสมือนเป็นกางเกงของพระ
  • อังสะ คือ ผ้าสำหรับสวม คล้ายเสื้อตัวใน โดยจะเฉียง เบี่ยงบ่าด้านหนึ่ง 
  • สังฆาฏิ คือ ผ้าผืนใหญ่ เหมือนกับจีวร โดยปกติมักจะใช้พาดบ่า และใช้ห่มเพื่อป้องกันความหนาว
  • ผ้ารัดอก คือ ผ้าใช้สำหรับรัดอกหรือรอบเอว 
  • ผ้าประคด คือ สายรัด ทำหน้าที่เหมือนเข็มขัด ใช้คาดทับสบงให้กระชับ แน่น
  • ผ้าประเคน คือ ผ้าที่ใช้รับประเคน หรือรับถวายสิ่งของจากญาติโยมผู้หญิง

2. ผ้าไตรอาศัย หรือ ไตรแบ่ง คือ ผ้าไตรที่ภิกษุใช้สวมครอง เป็นชุดไตร 3 ชิ้น ได้แก่ 

  • จีวร
  • สบง
  • อังสะ 
e2e4c5feeeb04a9ef0c3ea95d4766628

เลือกซื้อผ้าไตรอย่างไรให้มีอายุการใช้งานได้นาน 

ผ้าไตร จีวรพระในท้องตลาดปัจจุบัน มีหลายเกรด มีหลายเนื้อผ้าให้เลือกซื้อ เหมือนกับการเลือกซื้อเสื้อผ้าสวมใส่ทั่วไป จึงจำเป็นต้องเลือกดูตั้งแต่เนื้อผ้าที่นำมาตัดเย็บ สีของผ้า ขนาด รวมไปถึงการตัดเย็บ เพราะถ้าเนื้อผ้าไม่มีคุณภาพ อายุการใช้งานสั้น เสื่อมสภาพเร็ว พระสงฆ์ครองผ้าได้ไม่สะดวก นอกจากนี้ การตัดเย็บที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัยก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องตรวจเช็กก่อนซื้อ เพื่อป้องกันไม่ให้พระสงฆ์ผิดหลักวินัย และผู้ถวายก็จะได้อานิสงส์เต็มที่ เพราะของที่นำไปถวายได้นำไปใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

1. เนื้อผ้าไตรจีวร

ชนิดของเนื้อผ้าไตรที่นิยมใช้ทั่วไป มี 2 แบบ 

  • ผ้าโทเร เป็นผ้าเนื้อแข็ง ยับยาก ราคาถูก ระคายผิว แห้งยาก ทำความสะอาดง่าย ตากที่ร่มได้ไม่อับ 
  • ผ้ามัสลิน เนื้อผ้าคุณภาพดี ราคาปานกลาง ผ้าไม่ร้อน ระบายอากาศได้ดี แห้งง่าย ใช้ทน แต่ต้องระมัดระวังในการเลือกใช้น้ำยาทำความสะอาด 

2. สีผ้าไตรจีวร 

ปัจจุบัน ผ้าไตรมีหลายสี และข้อกำหนดของแต่ละวัดก็แตกต่างกันไป จึงควรสอบถามเจ้าอาวาสหรือพระสงฆ์ที่อาศัยอยู่ในวัดนั้นโดยตรง เพื่อให้ตรงกับหลักเกณฑ์ของสถานที่ ได้ใช้งานให้เกิดประโยชน์จริง สีจีวรที่นิยมและสามารถพบเห็นได้ทั่วไป เช่น 

  • ผ้าไตรสีเหลืองทอง หรือ ผ้าไตรสีเหลืองส้ม พบเห็นได้ทั่วไปตามวัดมหานิกาย 
  • ผ้าไตรสีพระราชทาน หรือ สีพระราชนิยม เป็นสีกลางของผ้าไตร ที่รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานแด่ภิกษุใช้สวมครองในวัดอารามหลวง และสวมออกงานพิธีสำคัญ ซึ่งสามารถใช้ได้กับทุกนิกาย ทั้งนิกายมหายาน และธรรมยุติกนิกาย  และทุกวัดในประเทศไทย หากไม่แน่ใจว่าจะซื้อผ้าไตรสีใดดี แนะนำว่าเลือกสีพระราชทาน เพราะสามารถใช้ได้ทุกวัดแน่นอน 
  • ผ้าไตรสีกรัก สีแก่นบวร หรือผ้าไตรสีแก่นขนุน พบเห็นได้ทั่วไปตามวัดป่าสายธรรมยุต 

3. ขนาดผ้าไตร 

ขนาดของผ้าไตรก็เป็นอีกข้อสำคัญในการเลือกนำไปถวายวัด เนื่องจากพระสงฆ์ในแต่ละวัดย่อมมีส่วนสูงที่แตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่ ขนาดของผ้าไตรที่มีจำหน่ายในท้องตลาด จะมีขนาดมาตรฐานของผ้าไตรจีวร ดังนี้ 

  • ผ้าไตรขนาด 1.80 เมตร เหมาะสำหรับภิกษุสูงประมาณ 145 – 160 ซม.
  • ผ้าไตรขนาด 1.90 เมตร เหมาะสำหรับภิกษุสูงประมาณ 160 – 175 ซม.
  • ผ้าไตรขนาด 2.00 เมตร เหมาะสำหรับภิกษุสูงประมาณ 175 – 190 ซม. 

สำหรับใครที่ไม่ได้ซื้อผ้าไตรถวายแบบเจาะจง แต่ซื้อถวายเป็นสังฆทาน หรือ กาลทาน บุญกฐิน ภิกษุรูปไหนก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ แนะนำให้เลือกผ้าไตรขนาดมาตรฐาน คือ 1.90 เมตร 

คำถวายพระผ้าไตรจีวร 

อิมานิ มะยัง ภันเต 

ติจีวะรานิ สะปะริวารานิ 

ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ 

สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ 

อิมานิ ติจีวะรานิ สะปะริวารานิ 

ปะฏิคคันหาตุ อัมหากัง 

ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ 

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้า (ทั้งหลาย) ขอน้อมถวายผ้าไตรจึวรกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์โปรดรับผ้าไตรจีวรกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ ของข้าพเจ้า (ทั้งหลาย) เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของข้าพเจ้า (ทั้งหลาย) สิ้นกาลนานเทอญ 


Leave a comment
Your email address will not be published. Required fields are marked *